ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (10 ส.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงคาดการณ์ว่า ข้อมูลแรงงานที่แข็งแกร่งของสหรัฐจะเป็นปัจจัยผลักดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มพิจารณาเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในสัปดาห์นี้อย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.12% แตะที่ 93.0569 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 110.57 เยน จากระดับ 110.28 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9228 ฟรังก์ จากระดับ 0.9200 ฟรังก์ แต่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2526 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2572 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1721 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1741 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3839 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3852 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.7349 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7335 ดอลลาร์
นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดอาจเริ่มพิจารณาเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และลดวงเงินในโครงการ QE หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 943,000 ตำแหน่งในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 1 ปี จากระดับ 938,000 ตำแหน่งในเดือนมิ.ย. ขณะที่อัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 5.4% ในเดือนก.ค. จากระดับ 5.9% ในเดือนมิ.ย.
นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเมื่อคืนนี้ ขณะที่ยูโรถูกกดดันจากการที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW) เปิดเผยว่า ความเชื่อมั่นของนักลงทุนเยอรมนีปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
นักลงทุนจับตาตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในสัปดาห์นี้ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ในวันพุธ และเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ในวันพฤหัสบดี
นักลงทุนคาดว่าเฟดจะส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งแนวโน้มการปรับลดวงเงิน QE ในการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ในวันที่ 26-28 ส.ค.
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ประสิทธิภาพในการผลิตของแรงงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐเพิ่มขึ้น 2.3% ในไตรมาส 2 ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.5% ส่วนต้นทุนแรงงานต่อหน่วยเพิ่มขึ้น 1.0% ในไตรมาส 2 เมื่อเทียบรายไตรมาส หลังจากหดตัว 2.8% ในไตรมาส 1
ทางด้านสหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติสหรัฐ (NFIB) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจขนาดย่อมปรับตัวลง 2.8 จุด สู่ระดับ 99.7 ในเดือนก.ค. หลังจากดีดตัวขึ้นในเดือนมิ.ย. โดย NFIB ระบุว่า ภาคธุรกิจมีความกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนแรงงาน และเงินเฟ้อที่ก่อตัวขึ้น
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่จะมีการเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ราคานำเข้าและส่งออกเดือนก.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนส.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน