ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (31 ส.ค.) หลังจาก Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจเปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน
ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.03% แตะที่ 92.6337 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9149 ฟรังก์ จากระดับ 0.9165 ฟรังก์ แต่ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 110.00 เยน จากระดับ 109.88 เยน และทรงตัวเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2607 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1812 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1803 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3757 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3767 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7318 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7297 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์อ่อนค่าลงหลังจากผลสำรวจของ Conference Board ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 113.8 ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. จากระดับ 125.1 ในเดือนก.ค. และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 124.0
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากความวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเป็นการสำรวจมุมมองของผู้บริโภค และความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และในช่วง 6 เดือนข้างหน้า, สถานะการเงินส่วนบุคคล และการจ้างงาน
นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนส.ค.ของสหรัฐในวันศุกร์นี้อย่างใกล้ชิด เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เมื่อใด
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ ผลสำรวจของเอสแอนด์พี คอร์โลจิก เคส ชิลเลอร์ ระบุว่า ดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศในสหรัฐพุ่งขึ้น 18.6% ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นการทะยานขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในปี 2530 จากระดับ 16.8% ในเดือนพ.ค.
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนส.ค.จาก ADP, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือนส.ค.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคการผลิตเดือนส.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเดือนก.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดุลการค้าเดือนก.ค., ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนก.ค., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนส.ค.จากมาร์กิต และดัชนีภาคบริการเดือนส.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM)