ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (1 ก.ย.) หลังตัวเลขจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดการณ์ในเดือนส.ค. ซึ่งทำให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเดินหน้าใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินต่อไป
ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.20% แตะที่ 92.4530 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.92 เยน จากระดับ 110.00 เยน แต่ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9151 ฟรังก์ จากระดับ 0.9149 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2615 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2607 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.1845 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1812 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.3779 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3757ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.7374 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7318 ดอลลาร์
ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้นเพียง 374,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค. ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 613,000 ตำแหน่ง โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% และเมื่อเทียบรายปี การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 9.0% ในเดือนก.ค.
ทางด้านสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 59.9 ในเดือนส.ค. สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ว่าดัชนีจะปรับตัวลงสู่ระดับ 58.6 ทั้งนี้ ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐยังคงอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะขยายตัว โดยได้แรงหนุนจากการดีดตัวขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันศุกร์นี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ไทม์ไลน์ในการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของเฟด ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งคาดว่าตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรจะเพิ่มขึ้น 750,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค. และอัตราการว่างงานจะลดลงสู่ระดับ 5.2%
นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดุลการค้าเดือนก.ค., ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนก.ค., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนส.ค.จากมาร์กิต และดัชนีภาคบริการเดือนส.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM)