ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (9 ก.ย.) หลังจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรฉุกเฉินป้องกันผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือ Pandemic Emergency Purchase Programme (PEPP) โดยโครงการ PEPP ของ ECB นั้น เทียบเท่ากับโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.18% แตะที่ 92.4828 เมื่อคืนนี้
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1829 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1824 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3837 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3779 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7371 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7374 ดอลลาร์
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.69 เยน จากระดับ 110.22 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9168 ฟรังก์ จากระดับ 0.9213 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2649 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2673 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรดีดตัวขึ้นหลังจาก ECB ส่งสัญญาณการปรับลดวงเงินในโครงการ PEPP โดยระบุว่า "จากการประเมินสภาวะทางการเงินและแนวโน้มเงินเฟ้อ คณะกรรมการกำหนดนโยบายของ ECB มีความเห็นว่า ECB สามารถรักษาสภาวะทางการเงินที่น่าพึงพอใจด้วยการปรับลดวงเงินในการซื้อพันธบัตรในโครงการ PEPP เมื่อเทียบกับในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา และ ECB พร้อมที่จะปรับเครื่องมือทุกอย่างตามความเหมาะสมเพื่อสร้างความมั่นใจว่าเงินเฟ้อจะมีเสถียรภาพที่ระดับ 2% ซึ่งเป็นเป้าหมายของ ECB ในระยะกลาง" แถลงการณ์ของ ECB ระบุ
ทั้งนี้ โครงการ PEPP มีวงเงินรวม 1.85 ล้านล้านยูโร ซึ่งในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา ECB ได้ซื้อพันธบัตรตามโครงการดังกล่าวในวงเงินเดือนละ 8 หมื่นล้านยูโร
ผลการสำรวจนักวิเคราะห์คาดว่า ECB จะลดวงเงินในซื้อพันธบัตรตามโครงการ PEPP เหลือเพียง 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ก่อนที่จะลดวงเงินลงอีกในต้นปี 2565 และจะยุติโครงการในเดือนมี.ค. 2565
นอกจากนี้ ECB ยังมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเมื่อวานนี้ โดยคงอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ที่ระดับ 0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ที่ระดับ -0.50% ขณะที่คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 0.25%
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงสู่ระดับ 310,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว และเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 18 เดือน นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐเมื่อเดือนมี.ค.2563 จากระดับ 345,000 รายในสัปดาห์ก่อนหน้านี้
นักลงทุนจับตาการประชุมกำหนดนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 21-22 ก.ย. โดยคาดว่าตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนส.ค.จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่คณะกรรมการเฟดใช้ในการพิจารณาว่าจะเริ่มประกาศปรับลดวงเงิน QE หรือไม่
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานเมื่อวันศุกร์ที่แล้วว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 235,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค. ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 720,000 ตำแหน่ง หลังจากพุ่งขึ้น 1,053,000 ตำแหน่งในเดือนก.ค.