ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (30 ก.ย.) หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานสูงกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันจากการที่นักลงทุนเทขายทำกำไรหลังจากดอลลาร์แข็งค่าอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.12% แตะที่ 94.2291 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 111.37 เยน จากระดับ 111.98 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9325 ฟรังก์ จากระดับ 0.9342 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2658 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2747 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1583 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1600 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.3475 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3435 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.7230 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7183 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์อ่อนค่าลงหลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 11,000 ราย สู่ระดับ 362,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 335,000 ราย
ทั้งนี้ ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์ที่แล้วแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค. และปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งบ่งชี้ว่าการจ้างงานได้ชะลอตัวลง ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยล่าสุดเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 3 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2/2564 โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัว 6.7% ในไตรมาส 2 ซึ่งสูงกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ที่ระดับ 6.5% และสูงกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ที่ระดับ 6.6% หลังจากที่ขยายตัว 6.3% ในไตรมาส 1
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ที่มีกำหนดเปิดเผยในวันนี้ได้แก่ รายได้และการใช้จ่ายส่วนบุคคลเดือนส.ค., ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนส.ค., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือนก.ย.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคการผลิตเดือนก.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน