ดอลลาร์อ่อนค่าเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน สอดคล้องกับการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
ณ เวลา 23.30 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์ร่วงลง 0.29% สู่ระดับ 110.95 เยน ขณะที่ยูโรปรับตัวลง 0.12% สู่ระดับ 128.70 เยน และดีดตัวขึ้น 0.16% สู่ระดับ 1.160 ดอลลาร์ ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลบ 0.24% สู่ระดับ 94.0
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีร่วงลงต่ำกว่า 1.5% ในวันนี้
นักลงทุนชะลอการส่งแรงซื้อดอลลาร์ในวันนี้ หลังจากพุ่งขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
ถึงแม้ดอลลาร์อ่อนค่าในวันนี้ แต่ดัชนีดอลลาร์ทำสถิติพุ่งขึ้นมากที่สุดในสัปดาห์นี้นับตั้งแต่เดือนส.ค. โดยได้แรงหนุนจากคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ใกล้ถอนมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน
นักลงทุนจับตาตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ พุ่งขึ้น 3.6% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2534 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.5%
การพุ่งขึ้นของดัชนี PCE พื้นฐานมีสาเหตุจากภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน และความต้องการใช้เชื้อเพลิงในระดับสูงกว่าปกติ
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนส.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.2%
ส่วนดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน พุ่งขึ้น 4.3% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2534
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไปเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนส.ค.
ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จากกระทรวงแรงงานสหรัฐ
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนส.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.7%
ขณะเดียวกัน รายได้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนส.ค. สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้
ส่วนอัตราการออมของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 9.4% สู่ระดับ 1.71 ล้านล้านดอลลาร์ หลังจากพุ่งขึ้น 10.1% ในเดือนก.ค.