ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (3 พ.ย.) หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศว่าจะเริ่มปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ตั้งแต่เดือนพ.ย. ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.23% แตะที่ 93.8725 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 113.93 เยน จากระดับ 113.96 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9105 ฟรังก์ จากระดับ 0.9142 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2392 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2405 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1609 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1581 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3679 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3618 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7445 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7426 ดอลลาร์สหรัฐ
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% ในการประชุมเมื่อวานนี้
นอกจากนี้ เฟดจะปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์ เริ่มตั้งแต่เดือนพ.ย. โดยเฟดจะปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเดือนละ 10,000 ล้านดอลลาร์ และปรับลดวงเงินซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) เดือนละ 5,000 ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ การลดวงเงิน QE ดังกล่าวจะทำให้เฟดยุติการทำ QE โดยสิ้นเชิงในกลางปี 2565
แถลงการณ์ของ FOMC ระบุว่า "เฟดดำเนินการดังกล่าว หลังจากที่เศรษฐกิจมีความคืบหน้าอย่างมากในการไปสู่เป้าหมายของเฟดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2563"
อย่างไรก็ดี แถลงการณ์ระบุว่า เฟดไม่ได้มีการดำเนินการอย่างตายตัว และเฟดจะทำการปรับมาตรการ หากมีความจำเป็น
"คณะกรรมการ FOMC มีความเห็นว่าการปรับลดการซื้อพันธบัตรในวงเงินที่เท่าๆกัน ถือว่ามีความเหมาะสมในแต่ละเดือน แต่เฟดก็พร้อมที่จะปรับวงเงินการซื้อพันธบัตร หากมีการเปลี่ยนแปลงต่อแนวโน้มทางเศรษฐกิจ" แถลงการณ์ระบุ
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐพุ่งขึ้น 571,000 ตำแหน่งในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. จากระดับ 523,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 395,000 ตำแหน่ง
ขณะที่ไอเอชเอส มาร์กิตเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 58.7 ในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค. จากระดับ 54.9 ในเดือนก.ย.
ทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า คำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนก.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะทรงตัว หรือเพิ่มขึ้น 0% หลังจากดีดตัวขึ้น 1.0% ในเดือนส.ค.
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนต.ค.ของสหรัฐในวันศุกร์นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะพุ่งขึ้น 450,000 ตำแหน่งในเดือนต.ค. หลังจากที่เพิ่มขึ้นเพียง 194,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. และคาดว่าอัตราว่างงานเดือนต.ค.จะลดลงสู่ระดับ 4.7% จากระดับ 4.8% ในเดือนก.ย.