ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (23 ธ.ค.) หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลแรงงานที่ซบเซา อย่างไรก็ดี ดอลลาร์อ่อนค่าลงเพียงเล็กน้อย เนื่องจากนักลงทุนขานรับผลการวิจัยเชิงบวกเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.07% แตะที่ 96.0243 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9180 ฟรังก์ จากระดับ 0.9196 ฟรังก์ และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2809 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2843 ดอลลาร์แคนาดา แต่ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 114.44 เยน จากระดับ 114.17 เยน
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1333 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1331 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3419 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3359 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7248 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7214 ดอลลาร์
ดอลลาร์อ่อนค่าลงหลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกไม่มีการเปลี่ยนแปลงในสัปดาห์ที่แล้ว โดยอยู่ที่ระดับ 205,000 รายหลังมีการปรับตัวเลข ซึ่งตรงกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
อย่างไรก็ดี นักลงทุนขานรับผลการวิจัยของอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน, มหาวิทยาลัยเอดินบะระแห่งสกอตแลนด์ และสถาบันโรคติดต่อแห่งชาติของแอฟริกาใต้ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ความเสี่ยงที่ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนจะต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลนั้น มีน้อยกว่าผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา นอกจากนี้ ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโอมิครอนมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรครุนแรงน้อยกว่าผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเดลตา
ทางด้านบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าเปิดเผยผลการวิจัยล่าสุดระบุว่า วัคซีนเข็มบูสเตอร์ของบริษัทมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน นอกจากนี้ ผลการวิจัยในห้องแล็บยังบ่งชี้ว่า ยาเอวูเชลด์ (Evusheld) ซึ่งเป็นยาแอนติบอดีแบบผสม (Antibody Cocktail) ของแอสตร้าเซนเนก้า สามารถลบล้างฤทธิ์ของไวรัสโอมิครอนได้
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ของสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบรายเดือน หลังเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนต.ค. และหากเทียบเป็นรายปี ดัชนี PCE พื้นฐานดีดตัวขึ้น 4.7% ในเดือนพ.ย. หลังจากปรับขึ้น 4.2% ในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบกว่า 30 ปี
ทั้งนี้ ดัชนี PCE พื้นฐาน เป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นดัชนีชี้วัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จากกระทรวงแรงงานสหรัฐ
- ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กจะปิดทำการในวันศุกร์ที่ 24 ธ.ค. เนื่องในเทศกาลคริสต์มาส