ดอลลาร์อ่อนค่าลงในวันนี้ หลังการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐ
ณ เวลา 23.20 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์ร่วงลง 0.27% สู่ระดับ 114.01 เยน ขณะที่ยูโรปรับตัวลง 0.29% สู่ระดับ 129.30 เยน และอ่อนค่า 0.02% สู่ระดับ 1.134 ดอลลาร์ ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลบ 0.03% สู่ระดับ 95.48
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกพุ่งขึ้นสู่ระดับ 286,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2564 สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 225,000 ราย และสูงกว่าตัวเลขที่มีการรายงานในสัปดาห์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 231,000 ราย
นอกจากนี้ ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสูงกว่าระดับ 215,000 ราย ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ
ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องเพิ่มขึ้น 84,000 ราย สู่ระดับ 1.64 ล้านราย
ทางด้านสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ยอดขายบ้านมือสองดิ่งลง 4.6% สู่ระดับ 6.18 ล้านยูนิตในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน
เมื่อเทียบรายปี ยอดขายบ้านลดลง 7.1% ในเดือนธ.ค.
นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 25-26 ม.ค. หลังจากที่เจ้าหน้าที่เฟดหลายรายต่างแสดงความเห็นสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งรวมถึงนางลาเอล เบรนาร์ด หนึ่งในคณะผู้ว่าการเฟด, นายชาร์ลส์ อีแวนส์ ประธานเฟด สาขาชิคาโก, นายแพทริก ฮาร์เกอร์ ประธานเฟด สาขาฟิลาเดลเฟีย และนางแมรี ดาลี ประธานเฟด สาขาซานฟรานซิสโก
FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักมากกว่า 90% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นเดือนที่เฟดยุติโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) พร้อมกับคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้
ทางด้านโกลด์แมน แซคส์คาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้ และจะเริ่มปรับลดขนาดงบดุลในเดือนก.ค.หรือเร็วกว่านั้น จากปัจจุบันที่พุ่งสูงกว่า 8 ล้านล้านดอลลาร์