ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (24 ม.ค.) หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเวลาที่รวดเร็วขึ้น เพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ปรับตัวขึ้น 0.48% แตะที่ 96.4080 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 114.51 เยน จากระดับ 113.91 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9237 ฟรังก์ จากระดับ 0.9196 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2657 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2609 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1253 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1296 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3460 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3518 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7118 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7170 ดอลลาร์สหรัฐ
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% ในการประชุมเมื่อวานนี้ พร้อมระบุว่าเฟดจะยังคงปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) จำนวน 3 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนก.พ. ซึ่งจะส่งผลให้การทำ QE ของเฟดสิ้นสุดลงในเดือนมี.ค. พร้อมกับการเริ่มต้นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนดังกล่าวเช่นกัน อย่างไรก็ดี เฟดไม่ได้ระบุว่าจะเริ่มปรับลดขนาดงบดุลเมื่อใด จากปัจจุบันที่พุ่งสูงเกือบ 9 ล้านล้านดอลลาร์ โดยแถลงการณ์ของเฟดระบุแต่เพียงว่า "เฟดคาดว่ากระบวนการปรับลดขนาดงบดุลจะเริ่มขึ้น หลังจากที่มีการเริ่มกระบวนการปรับขึ้นเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น"
ทางด้านนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดกล่าวภายหลังการประชุมว่า "ยังคงมีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน และเฟดไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่ว่าอาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% เมื่อพิจารณาจากการพุ่งขึ้นของตัวเลขเงินเฟ้อในขณะนี้"
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยล่าสุดเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่พุ่งขึ้น 11.9% สู่ระดับ 811,000 ยูนิตในเดือนธ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 760,000 ยูนิต แต่เมื่อเทียบรายปี ยอดขายบ้านใหม่ลดลง 14.0% ในเดือนธ.ค.
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนธ.ค., ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/2564 (ประมาณการเบื้องต้น), ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนธ.ค. , ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนธ.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนม.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน