ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (16 ก.พ.) หลังจากรายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) บ่งชี้ว่า เฟดอาจจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรุนแรงไปกว่าที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้แล้ว
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.30% สู่ระดับ 95.6990
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 115.40 เยน จากระดับ 115.56 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9208 ฟรังก์ จากระดับ 0.9254 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2674 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2725 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1393 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1302 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3598 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3529 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7204 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7153 ดอลลาร์
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง หลังเฟดเปิดเผยรายงานการประชุมประจำวันที่ 25-26 ม.ค.ซึ่งระบุว่า แม้กรรมการเฟดส่วนใหญ่เห็นพ้องว่าควรมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ เมื่อพิจารณาจากความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ, ตลาดแรงงาน และการพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ แต่การพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนั้น จะขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ข้อมูลในการประชุมแต่ละครั้ง โดยเฟดจะกลับมาประเมินไทม์ไลน์เรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมแต่ละครั้ง
นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า รายงานการประชุมเดือนม.ค.บ่งชี้ว่าเฟดอาจจะไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเวลาที่รวดเร็วและรุนแรงไปกว่าที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้แล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านี้ นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ได้แสดงจุดยืนแข็งกร้าวด้วยการสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงถึง 1% ภายในเดือนก.ค.
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดค้าปลีกพุ่งขึ้น 3.8% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.1% หลังจากดิ่งลง 2.5% ในเดือนธ.ค. โดยยอดค้าปลีกเดือนม.ค.ได้รับแรงหนุนจากการการเพิ่มขึ้นของยอดซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งทะยานขึ้น 14.5%
ทางด้านธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รายงานว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐเพิ่มขึ้น 1.4% ในเดือนม.ค. หลังจากลดลง 0.1% ในเดือนธ.ค. โดยตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมเป็นการวัดการปรับตัวของภาคโรงงาน, เหมืองแร่ และสาธารณูปโภค
นอกจากนี้ สมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) ของสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านลดลง 1 จุด สู่ระดับ 82 ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 โดยดัชนีร่วงลงเนื่องจากปัญหาห่วงโซ่อุปทาน สต็อกบ้านในระดับต่ำ การพุ่งขึ้นของราคาบ้าน และต้นทุนในการก่อสร้าง