ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (17 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนพากันเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ในยูเครน
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.1% สู่ระดับ 95.7960 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2705 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2674 ดอลลาร์แคนาดา แต่ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 114.90 เยน จากระดับ 115.40 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9201 ฟรังก์ จากระดับ 0.9208 ฟรังก์
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1368 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1393 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3624 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3598 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7195 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7204 ดอลลาร์
นักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกกังวลถึงความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะบุกโจมตียูเครน ซึ่งจะส่งผลให้ชาติตะวันตกซึ่งรวมถึงสหรัฐใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย
นายไบรอัน โอทูล อดีตที่ปรึกษาระดับอาวุโสของผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมทรัพย์สินในต่างประเทศ (OFAC) ของกระทรวงการคลังสหรัฐกล่าวว่า หากรัสเซียยกพลโจมตียูเครน องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ก็อาจจะตอบโต้ด้วยการใช้มาตรการคว่ำบาตรภาคธนาคารของรัสเซียไม่ให้เข้าถึงสกุลเงินดอลลาร์ของสหรัฐ ซึ่งจะทำให้ธนาคารรัสเซียไม่สามารถทำธุรกรรมด้วยเงินสกุลดอลลาร์ได้
ด้านนายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ กล่าวว่า รัสเซียเตรียมการโจมตียูเครน โดยจะมีการใช้อาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง
"รัสเซียจะไม่โจมตียูเครนด้วยอาวุธธรรมดา และการโจมตีจะมีขึ้นในอีกไม่กี่วัน" นายบลิงเกนกล่าวในการประชุมฉุกเฉินของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เมื่อวานนี้ พร้อมระบุว่า รัสเซียได้ตรึงกำลังทหารกว่า 150,000 นายตามแนวชายแดนยูเครน รวมทั้งมีกำลังทหารในเบลารุส และคาบสมุทรไครเมียที่พร้อมโจมตีในอีกไม่กี่วัน
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 23,000 ราย สู่ระดับ 248,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 219,000 ราย
ทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านลดลง 4.1% ในเดือนม.ค. สู่ระดับ 1.638 ล้านยูนิต โดยได้รับผลกระทบจากการพุ่งขึ้นของราคาวัสดุก่อสร้าง และสภาพอากาศที่หนาวเย็น
นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาฟิลาเดลเฟีย เปิดเผยดัชนีภาคการผลิตในภูมิภาคมิด-แอตแลนติก ลดลงสู่ระดับ 16.0 ในเดือนก.พ. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 19.0 จากระดับ 23.2 ในเดือนม.ค.