ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (29 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย และเข้าซื้อสกุลเงินที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยงเช่นยูโร หลังมีรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครน
ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.69% แตะที่ 98.4060 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 122.92 เยน จากระดับ 123.60 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9311 ฟรังก์ จากระดับ 0.9351 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2494 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2527 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1095 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0993 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3094 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3098 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.7512 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7501 ดอลลาร์สหรัฐ
นายเมฟลุต คาวูโซกลู รมว.ต่างประเทศตุรกีกล่าวว่า การเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครนที่กรุงอิสตันบูลเมื่อวานนี้ มีความคืบหน้ามากที่สุดนับตั้งแต่ทั้งสองฝ่ายได้เริ่มการเจรจาเป็นต้นมา พร้อมกับกล่าวว่า รมว.ต่างประเทศของรัสเซียและยูเครนจะหารือกันในโอกาสต่อไปเกี่ยวกับประเด็นที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ก่อนที่ปธน.วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย และปธน.โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน จะพบปะกันในที่สุด
ด้านสำนักข่าวทาสส์ของรัสเซียรายงานโดยอ้างกระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุว่า รัสเซียจะลดปฏิบัติการทางทหาร "ลงอย่างมาก" รอบกรุงเคียฟ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของยูเครน รวมทั้งเมืองเชอร์นิฮิฟ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความไว้วางใจระหว่างรัสเซียและยูเครน และเพื่อเอื้ออำนวยต่อการเจรจาสันติภาพในครั้งต่อไปของทั้งสองฝ่าย
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ เปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 107.2 ในเดือนมี.ค. ใกล้เคียงกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 107.5 จากระดับ 105.7 ในเดือนก.พ. โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้รับแรงหนุนจากแนวโน้มตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง รวมทั้งการชะลอตัวของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสหรัฐ
ขณะที่ผลสำรวจของเอสแอนด์พี คอร์โลจิก เคส ชิลเลอร์ บ่งชี้ว่า ดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศในสหรัฐพุ่งขึ้น 19.2% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 18.9% ในเดือนธ.ค. โดยราคาบ้านยังคงได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ของผู้ซื้อบ้าน และสต็อกบ้านที่ตึงตัว แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองดีดตัวขึ้นก็ตาม
นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมี.ค.ของสหรัฐในวันศุกร์นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวดาวโจนส์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 460,000 ตำแหน่งในเดือนมี.ค. ซึ่งน้อยกว่าในเดือนก.พ.ที่พุ่งขึ้น 678,000 ตำแหน่ง และคาดว่าอัตราว่างงานเดือนมี.ค.จะลดลงสู่ระดับ 3.7%