ดอลลาร์แข็งค่าเทียบสกุลเงินหลัก โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) สูงสุดในรอบเกือบ 40 ปี
ณ เวลา 00.01 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน บวก 0.45% สู่ระดับ 98.23 ขณะที่ยูโรปรับตัวลง 0.84% สู่ระดับ 134.71 เยน และร่วงลง 0.66% สู่ระดับ 1.108 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์อ่อนค่า 0.18% สู่ระดับ 121.57 เยน
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ พุ่งขึ้น 5.4% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2526 แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.5%
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนก.พ. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
ส่วนดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน พุ่งขึ้น 6.4% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2525
ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จากกระทรวงแรงงานสหรัฐ
นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ส่งสัญญาณเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยระบุก่อนหน้านี้ว่า อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงเกินไป ซึ่งหากจำเป็น เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% ในการประชุมหนึ่งครั้งหรือหลายครั้ง ส่งผลให้นักลงทุนเพิ่มการคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนพ.ค.