ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (1 เม.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานเพิ่มขึ้นในเดือนมี.ค.ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานและเศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.33% แตะที่ 98.6320
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเยนที่ระดับ 122.61 เยน จากระดับ 121.59 เยน, แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9254 ฟรังก์ จากระดับ 0.9226 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดาที่ระดับ 1.2510 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2479 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.1042 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1073 ดอลลาร์ และเงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3105 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3136 ดอลลาร์ แต่ดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าสู่ระดับ 0.7497 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7489 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นขานรับแนวโน้มที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเชิงรุก หลังการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 431,000 ตำแหน่งในเดือนมี.ค. แม้ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 490,000 ตำแหน่ง
ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 3.6% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.7%
หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงาน FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 73.3% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมวันที่ 3-4 พ.ค. หลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนมี.ค.
นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ได้ส่งสัญญาณเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยระบุก่อนหน้านี้ว่า อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงเกินไป ซึ่งหากจำเป็น เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% ในการประชุมหนึ่งครั้งหรือหลายครั้ง
ด้านนายชาร์ลส์ อีแวนส์ ประธานเฟดสาขาชิคาโกกล่าวในวันศุกร์ว่า เฟดมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% จำนวน 7 ครั้งในปีนี้เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ
นอกจากนี้ เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 58.8 ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2564 และสูงกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 58.5 จากระดับ 57.3 ในเดือนก.พ. โดยดัชนี PMI ที่อยู่เหนือระดับ 50 บ่งชี้ว่า ภาคการผลิตของสหรัฐยังคงมีการขยายตัว