ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (7 เม.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.15% แตะที่ 99.7510 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 123.96 เยน จากระดับ 123.81 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9338 ฟรังก์ จากระดับ 0.9328 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2580 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2519 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0881 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0905 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3073 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3066 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7485 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7511 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีดอลลาร์พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 ปีเมื่อคืนนี้ หลังจากรายงานการประชุมเดือนมี.ค.ของเฟดระบุว่า กรรมการเฟดสนับสนุนการปรับลดขนาดงบดุล และเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ กรรมการเฟดเห็นพ้องที่จะปรับลดขนาดงบดุลลงเดือนละ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์อย่างเร็วที่สุดในเดือนพ.ค. และสนับสนุนให้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุม 1-2 ครั้ง หากยังคงเผชิญแรงกดดันจากเงินเฟ้อ
ตลาดการเงินคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมทั้งในเดือนพ.ค.และมิ.ย. และอัตราดอกเบี้ยจะแตะระดับ 2.50-2.75% ในช่วงสิ้นปีนี้ ซึ่งจะสูงกว่า 2.4% ซึ่งเป็นระดับที่กรรมการเฟดส่วนใหญ่มองว่าเป็นระดับที่เป็นกลาง
หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพ.ค.ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ก็จะเป็นครั้งแรกที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% นับตั้งแต่ปี 2543
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 5,000 ราย สู่ระดับ 166,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2511 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 200,000 ราย