ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (11 เม.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ รวมทั้งการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.14% แตะที่ 99.9330 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 125.45 เยน จากระดับ 124.36 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2621 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2567 ดอลลาร์แคนาดา แต่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9311 ฟรังก์ จากระดับ 0.9335 ฟรังก์
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0893 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0886 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3034 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3038 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7431 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7462 ดอลลาร์สหรัฐ
อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นเหนือระดับ 2.79% เมื่อคืนนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. 2562 ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ตลาดการเงินคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมทั้งในเดือนพ.ค.และมิ.ย. และอัตราดอกเบี้ยจะแตะระดับ 2.50-2.75% ในช่วงสิ้นปีนี้ ซึ่งจะสูงกว่า 2.4% ซึ่งเป็นระดับที่กรรมการเฟดส่วนใหญ่มองว่าเป็นระดับที่เป็นกลาง
ทั้งนี้ หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพ.ค.ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ก็จะเป็นครั้งแรกที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% นับตั้งแต่ปี 2543
นักลงทุนจับตาตัวเลขเงินเฟ้อในสัปดาห์นี้ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ในวันนี้ และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ในวันพุธ
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ที่จะมีการเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดค้าปลีกเดือนมี.ค., ราคานำเข้าและราคาส่งออกเดือนมี.ค. และการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมี.ค.