ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (12 เม.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีในเดือนมี.ค.
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.36% แตะที่ 100.2950
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9320 ฟรังก์ จากระดับ 0.9311 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดาที่ระดับ 1.2634 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2621 ดอลลาร์แคนาดา แต่ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 125.28 เยน จากระดับ 125.45 เยน
ยูโรอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.0834 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0893 ดอลลาร์ และเงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3007 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3034 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าสู่ระดับ 0.7461 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7431 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์ได้แรงหนุน หลังกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันอังคาร (12 เม.ย.) ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 8.5% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2524 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.4%
นอกจากนี้ ดัชนี CPI พุ่งขึ้น 1.2% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นรายเดือนมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2548 และสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
ขณะเดียวกัน ดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน พุ่งขึ้น 6.5% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2525 และสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI พื้นฐานดีดตัวขึ้น 0.3% ในเดือนมี.ค. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.5%
บรรดาผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างร้อนแรงได้ตอกย้ำการคาดการณ์ของตลาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างมากในการประชุมนโยบายการเงินในอนาคต