ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (25 เม.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสงครามอันยืดเยื้อระหว่างรัสเซียยูเครน และการล็อกดาวน์เมืองเซี่ยงไฮ้ของจีนที่ย่างเข้าสู่สัปดาห์ที่ 4
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน พุ่งขึ้น 0.53% แตะที่ 101.7530
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9590 ฟรังก์ จากระดับ 0.9568 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2729 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2717 ดอลลาร์แคนาดา แต่ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 128.01 เยน จากระดับ 128.59 เยน
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0714 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0789 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2734 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2825 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.7168 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7239 ดอลลาร์สหรัฐ
นักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ในขณะที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังคงยืดเยื้อ โดยล่าสุดมีรายงานว่าสหภาพยุโรป (EU) เตรียมใช้มาตรการคว่ำบาตน้ำมันนำเข้าจากรัสเซีย
ส่วนการล็อกดาวน์เมืองเซี่ยงไฮ้ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเงินของจีนได้ย่างเข้าสู่สัปดาห์ที่ 4 แล้ว และจีนยังได้สั่งล็อกดาวน์ย่านที่อยู่อาศัยหลายสิบแห่งในเมืองเฉาหยาง กรุงปักกิ่ง ขณะที่เจ้าหน้าที่กรุงปักกิ่งเตือนว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 อาจเพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้
นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรงเพื่อสกัดเงินเฟ้อ หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวว่า เขาสนับสนุนให้เฟดดำเนินการเร็วขึ้นเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ และส่งสัญญาณว่ามีโอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนพ.ค. ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% นับตั้งแต่ปี 2543
นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนมี.ค., ยอดขายบ้านใหม่เดือนมี.ค., ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนมี.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1, ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนมี.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน