ดัชนีดอลลาร์พุ่งเหนือ 103 นิวไฮ 20 ปี เก็งเฟดขึ้นดอกเบี้ยแรงสัปดาห์หน้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday April 28, 2022 23:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ดีดตัวเหนือระดับ 103 แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2545 หรือสูงสุดในรอบ 20 ปี

นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังทำสถิติแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 20 ปีเช่นกันเมื่อเทียบกับเยน โดยพุ่งเหนือระดับ 131 เยน แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2545 หลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินผ่อนคลายแบบพิเศษในการประชุมวันนี้ ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐและญี่ปุ่นปรับตัวกว้างขึ้น

ณ เวลา 22.39 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์แข็งค่า 1.83% สู่ระดับ 130.77 เยน หลังจากแตะระดับ 131.20 เยนก่อนหน้านี้ ขณะที่ยูโรปรับตัวขึ้น 1.40% สู่ระดับ 137.45 เยน และร่วงลง 0.38% สู่ระดับ 1.051 ดอลลาร์ ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน บวก 0.61% สู่ระดับ 103.58

ทั้งนี้ ดอลลาร์ได้ปัจจัยบวกจากการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรงเพื่อสกัดเงินเฟ้อ หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวว่า เขาสนับสนุนให้เฟดดำเนินการเร็วขึ้นเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ และส่งสัญญาณว่ามีโอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมวันที่ 3-4 พ.ค. ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% นับตั้งแต่ปี 2543

ตลาดยังคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงขึ้นหลังเดือนพ.ค. โดยอาจปรับขึ้น 0.75% เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1/65 โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 1.4% ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ที่เศรษฐกิจเผชิญภาวะถดถอยจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563

นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าเศรษฐกิจมีการขยายตัว 1.1% ในไตรมาส 1/65

ก่อนหน้านี้ เศรษฐกิจสหรัฐเติบโต 6.3% ในไตรมาส 1/64 และ 6.7% ในไตรมาส 2 ก่อนที่จะชะลอตัวสู่ 2.3% ในไตรมาส 3 เนื่องจากการขาดแคลนวัตถุดิบในภาคการผลิต ซึ่งกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและการใช้จ่ายของผู้บริโภค แต่เศรษฐกิจสหรัฐกลับมามีการขยายตัว 6.9% ในไตรมาส 4

เมื่อพิจารณาทั้งปี 2564 เศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัว 5.7% ซึ่งเป็นตัวเลขสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2527 หลังจากที่หดตัว 3.4% ในปี 2563 ซึ่งเป็นการหดตัวรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2489 โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ดอยซ์แบงก์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสสูงที่จะเผชิญภาวะถดถอยในช่วงปลายปี 2566 และต้นปี 2567 โดยได้รับผลกระทบจากการที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรงเพื่อสกัดเงินเฟ้อ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ