ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (5 พ.ค.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือนมิ.ย. แม้นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ยืนยันว่าเฟดยังไม่ได้พิจารณาที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากถึง 0.75% ก็ตาม
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน พุ่งขึ้น 1.14% แตะที่ 103.7540
ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 130.31 เยน จากระดับ 128.73 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9873 ฟรังก์ จากระดับ 0.9747 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2853 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2740 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0519 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0621 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2350 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2581 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7095 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7232 ดอลลาร์สหรัฐ
นักลงทุนคาดการณ์ว่า การที่เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (4 พ.ค.) อาจไม่มากพอที่จะสกัดเงินเฟ้อ และมีแนวโน้มที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงถึง 0.75% ในการประชุมเดือนหน้า
ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 75% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันที่ 14-15 มิ.ย. เพิ่มขึ้นจากระดับ 19% เมื่อเดือนที่แล้ว นอกจากนี้ นักลงทุนยังคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวมมากกว่า 2.00% ในปีนี้ ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นแตะระดับ 2.85% ในช่วงสิ้นปีนี้
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 19,000 ราย สู่ระดับ 200,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. และเป็นตัวเลขการเพิ่มขึ้นรายสัปดาห์มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ค. 2564
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ประสิทธิภาพในการผลิตของแรงงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐดิ่งลง 7.5% ในไตรมาส 1/2565 ซึ่งเป็นการทรุดตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 2490 หลังจากขยายตัว 6.3% ในไตรมาส 4/2564
นักลงทุนจับตากระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนเม.ย.ในวันนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานเดือนเม.ย.จะเพิ่มขึ้น 390,000 ตำแหน่ง และอัตราการว่างงานจะลดลงสู่ระดับ 3.5%