ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน พุ่งขึ้นทะลุระดับ 104 ในวันนี้ แตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 20 ปี
ณ เวลา 22.19 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดอลลาร์บวก 0.20% สู่ระดับ 103.87 หลังจากแตะระดับ 104.19 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2545 ขณะที่ยูโรปรับตัวลง 0.39% สู่ระดับ 137.20 เยน และร่วงลง 0.18% สู่ระดับ 1.053 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์อ่อนค่า 0.22% สู่ระดับ 130.27 เยน
ดัชนีดอลลาร์พุ่งขึ้นเกือบ 9% นับตั้งแต่ต้นปีนี้ สอดคล้องกับการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีแตะระดับ 3.185% ในวันนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2561 โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เร็วและแรงของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพื่อสกัดเงินเฟ้อ
เฟดมีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.50% สู่ระดับ 0.75-1.00% ในการประชุมสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2543 และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 20 ปี
นอกจากนี้ นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือนมิ.ย. แม้นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวว่าเฟดยังไม่ได้พิจารณาเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรุนแรงขนาดนั้นก็ตาม
FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 75% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันที่ 14-15 มิ.ย. เพิ่มขึ้นจากระดับ 19% เมื่อเดือนที่แล้ว
นอกจากนี้ นักลงทุนยังคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวมมากกว่า 2.00% ในปีนี้ ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นแตะระดับ 2.85% ในช่วงสิ้นปีนี้
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ในวันพุธนี้ ซึ่งอาจมีผลต่อการตัดสินใจกำหนดนโยบายการเงินของเฟดในการประชุมเดือนมิ.ย.