ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลลาร์แข็งค่า ขานรับแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday May 11, 2022 06:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (10 พ.ค.) โดยได้แรงหนุนจากแนวโน้มการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขณะที่นักลงทุนจับตาสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อประจำเดือนเม.ย.ในวันนี้

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.26% แตะที่ 103.9200

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 130.39 เยน จากระดับ 130.31 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9953 ฟรังก์ จากระดับ 0.9930 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับแคนาดา ที่ระดับ 1.3022 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2989 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0534 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0567 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2318 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2344 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6941 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6959 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์ได้รับปัจจัยหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ โดย FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 75% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันที่ 14-15 มิ.ย. ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 19% เมื่อเดือนที่แล้ว

นักลงทุนจับตาสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนเม.ย.ในวันนี้เวลา 19.30 น.ตามเวลาไทย ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค จะปรับตัวขึ้น 8.1% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งต่ำกว่าระดับ 8.5% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2524

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ สหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติสหรัฐ (NFIB) รายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมทรงตัวที่ระดับ 93.2 ในเดือนเม.ย. หลังจากปรับตัวลงติดต่อกัน 3 เดือน โดยผลสำรวจพบว่า ภาคธุรกิจยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ และการขาดแคลนแรงงาน

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนเม.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนพ.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ