บรรดาบริษัทคริปโทเคอร์เรนซีในสหรัฐกำลังพิจารณาที่จะย้ายฐานการดำเนินงานไปยังเบอร์มิวดา เพื่อขยายธุรกิจและทดลองผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ หลังจากที่บริษัทเหล่านี้เผชิญกับการตรวจสอบที่เข้มงวดมากขึ้นจากหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐ
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า เบอร์มิวดาซึ่งเป็นดินแดนโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักรนั้นถือเป็นหนึ่งในสถานที่แรก ๆ ที่มีการกำหนดกรอบการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล ในขณะที่บรรดาประเทศขนาดใหญ่เช่นสหรัฐยังไม่สามารถดำเนินการได้
นอกจากนี้ เบอร์มิวดายังมีระบบที่คล่องตัวกว่าเนื่องจากเป็นประเทศที่มีการควบคุมดูแลโดยองค์กรเดียว เมื่อเทียบกับสหรัฐที่มีหน่วยงานจำนวนมากเข้ามาดูแลคริปโทเคอร์เรนซี
ด้วยปัจจัยดังกล่าว ประกอบกับการที่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของเบอร์มิวดาสนับสนุนอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซี จึงทำให้เบอร์มิวดาเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูดสำหรับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ประเทศต่าง ๆ อาทิ สหรัฐพยายามจะบังคับใช้มาตรการควบคุมบริษัทคริปโทเคอร์เรนซี
คริสทิน บอกเกียโน ประธานและผู้ก่อตั้งบริษัทครอสทาวเวอร์ อิงค์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลกล่าวว่า เบอร์มิวดามีการกำกับดูแลด้วยหน่วยงานเดียว และมีเสรีภาพในการสื่อสารกันในบรรยากาศที่ส่งเสริมนวัตกรรม โดยครอสทาวเวอร์มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ของสหรัฐ แต่ก็ได้เข้าไปตั้งสำนักงานไว้แห่งหนึ่งแล้วในเบอร์มิวดา
ด้านสหรัฐนั้น ยังคงมองว่าคริปโทเคอร์เรนซีอาจจะมีความเสี่ยงต่อระบบการเงินของประเทศ โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้สั่งการให้หน่วยงานทั้งหมดของรัฐบาลสหรัฐทำการประเมินความเสี่ยงและประโยชน์ของสกุลเงินคริปโทเคอร์เรนซี โดยมุ่งเน้นไปที่การประเมิน 6 ประเด็นซึ่งได้แก่ การคุ้มครองผู้บริโภคและนักลงทุน, เสถียรภาพด้านการเงิน, การทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย, ความสามารถด้านการแข่งขันของสหรัฐในตลาดโลก, โอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงิน และนวัตกรรมที่มีความรับผิดชอบ
ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียของสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) และเปิดให้สาธารณชนเข้ามาร่วมแสดงความเห็นเกี่ยวกับการออกสกุลเงินดังกล่าวด้วย โดยเฟดได้จัดทำประชาพิจารณ์เพื่อรับความคิดเห็นของสาธารณชนไปจนถึงวันที่ 20 พ.ค.นี้