ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (12 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.97% แตะที่ 104.8510
ดอลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 1.0045 ฟรังก์ จากระดับ 0.9930 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3070 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2986 ดอลลาร์แคนาดา แต่ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 128.12 เยน จากระดับ 129.76 เยน
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0370 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0533 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2174 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2270 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6831 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6948 ดอลลาร์สหรัฐ
ความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกทำให้นักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
สำหรับข้อมูลเงินเฟ้อที่ทางการสหรัฐเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 8.3% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.1% แต่ต่ำกว่าระดับ 8.5% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2524
ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต เพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากดีดตัวขึ้น 1.6% ในเดือนมี.ค.
FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 100% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.50% ในการประชุมนโยบายการเงินอีก 2 ครั้ง ทั้งในเดือนมิ.ย.และก.ค. หลังจากที่เฟดเพิ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 20 ปี