ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (23 พ.ค.) ขานรับแนวโน้มที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนก.ค.และก.ย.
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 1.04% แตะที่ 102.0760
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0562 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.0550 ดอลลาร์ ขณะที่เงิปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2495 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2471 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7108 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7020 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 127.85 เยน จากระดับ 127.80 เยน แต่ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9737 ฟรังก์ จากระดับ 0.9758 ฟรังก์ และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2837 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2847 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าขึ้นหลังจากนายฟรังซัวส์ วิลเลอรอย เดอ กาลฮาว ผู้ว่าการธนาคารกลางฝรั่งเศส กล่าวว่า มีความเป็นไปได้อย่างมากที่ ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนก.ค.และเดือนก.ย.
นายวิลเลอรอยกล่าวในการประชุมเวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรั่ม (WEF) ว่า "ถ้าคุณพิจารณาสิ่งที่คุณคริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB กล่าวไว้ คุณจะพบว่า ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างแน่นอน ขณะที่กรรมการ ECB มีความเห็นสอดคล้องกัน"
ทั้งนี้ นางลาการ์ดกล่าวก่อนหน้านี้ว่า ECB มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ค. และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะมีค่าเป็นบวกในช่วงสิ้นสุดไตรมาส 3 จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ -0.50%
นักลงทุนจับตารายงานการประชุมเดือนพ.ค.ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันพุธ เพื่อหาทิศทางอัตราดอกเบี้ยและการปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) ของเฟด
นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นและภาคบริการขั้นต้นเดือนพ.ค.จากเอสแอนด์พี โกลบอล, ยอดขายบ้านใหม่เดือนเม.ย., ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนเม.ย., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไตรมาส 1/2565 (ประมาณการครั้งที่ 2), ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนเม.ย., ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนเม.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน