ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (25 พ.ค.) หลังรายงานการประชุมเดือนพ.ค.ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระบุว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% ในการประชุมเดือนมิ.ย.และเดือนก.ค.
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.19% แตะที่ 102.0550
ยูโรอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0691 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0727 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.2585 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2515 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.7093 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7063 ดอลลาร์
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 127.31 เยน จากระดับ 126.80 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9615 ฟรังก์ จากระดับ 0.9610 ฟรังก์ แต่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2809 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2832 ดอลลาร์แคนาดา
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟดเปิดเผยรายงานการประชุมประจำวันที่ 3-4 พ.ค. โดยระบุว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่มีความเห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนมิ.ย.และเดือนก.ค.เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อนั้น เป็นเรื่องที่เหมาะสม นอกจากนี้ กรรมการเฟดยังมีความเห็นที่เป็นเอกฉันท์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีความแข็งแกร่งมากพอที่จะทำให้เฟดสามารถใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินเพื่อสกัดเงินเฟ้อโดยไม่ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย
ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 100% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.50% ในการประชุมนโยบายการเงินอีก 2 ครั้ง ทั้งในเดือนมิ.ย.และก.ค. หลังจากที่เฟดเพิ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนพ.ค.
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ สมาคมนายธนาคารเพื่อการจำนอง (MBA) ของสหรัฐ เปิดเผยว่า จำนวนผู้ยื่นขอสินเชื่อเพื่อการจำนองลดลง 1.2% ในสัปดาห์ที่แล้ว โดยได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนเม.ย. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนมี.ค.
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไตรมาส 1/2565 (ประมาณการครั้งที่ 2), ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนเม.ย., ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนเม.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน