ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์แข็งหลังบอนด์ยีลด์พุ่ง-เฟดส่งสัญญาณเร่งขึ้นดบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 2, 2022 06:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (1 มิ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ รวมทั้งปัจจัยบวกจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.73% สู่ระดับ 102.4980

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 130.16 เยน จากระดับ 128.65 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9626 ฟรังก์ จากระดับ 0.9587 ฟรังก์ แต่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2632 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2644 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0659 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0740 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2493 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2604 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7188 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7177 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงหนุนหลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 2.944% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.089% เมื่อคืนนี้

นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการที่เฟดส่งสัญญาณเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยล่าสุดนางแมรี ดาลี ประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโกออกมาสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมสองครั้งข้างหน้า ซึ่งสอดคล้องกับที่นายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ หนึ่งในคณะผู้ว่าการเฟดที่สนับสนุนให้ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมทุกเดือนจนกว่าเงินเฟ้อจะชะลอตัวลง

นักลงทุนมองว่า ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดของสหรัฐจะไม่ทำให้เฟดถอนตัวออกจากวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุกเพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยสำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานอยู่ที่ระดับ 11.4 ล้านตำแหน่งในเดือนเม.ย. ซึ่งแม้ว่าลดลง 455,000 ตำแหน่ง แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับที่สูง และบ่งชี้ว่าตัวเลขค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้นยังคงเป็นสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อสูง ขณะที่บริษัทต่าง ๆ พยายามปรับขึ้นค่าแรงเพื่อดึงดูดพนักงาน

ทั้งนี้ ตัวเลข JOLTS นับเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสนใจ โดยมองว่าเป็นมาตรวัดภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยในการพิจารณานโยบายการเงินและอัตราดอกเบี้ยของเฟด

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ของสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 56.1 ในเดือนพ.ค. สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ว่าดัชนีร่วงลงสู่ระดับ 54.5 จากระดับ 55.4 ในเดือนเม.ย. โดยได้แรงหนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่ง ซึ่งส่งผลให้คำสั่งซื้อใหม่ดีดตัวขึ้น

ทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.5% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนมี.ค.

นักลงทุนจับตาข้อมูลแรงงานสหรัฐในสัปดาห์นี้ โดยในวันนี้จะมีการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนพ.ค.จาก ADP และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ส่วนในวันพรุ่งนี้จะมีการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ