ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (7 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนลดการถือครองดอลลาร์สหรัฐซึ่งเป็นสกุลเงินปลอดภัย และเข้าซื้อสกุลเงินที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยงและให้ผลตอบแทนสูงกว่า เช่นดอลลาร์ออสเตรเลีย และปอนด์
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.13% สู่ระดับ 102.3080
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0710 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0694 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2588 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2535 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7234 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7194 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 132.56 เยน จากระดับ 131.98 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9722 ฟรังก์ จากระดับ 0.9711 ฟรังก์ แต่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2527 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2576 ดอลลาร์แคนาดา
นักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ออสเตรเลีย หลังจากธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 0.85% ในการประชุมเมื่อวานนี้ ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่า RBA จะปรับขึ้นดอกเบี้ยราว 0.25% หรือ 0.40% นอกจากนี้ RBA ยังส่งสัญญาณว่า การคุมเข้มนโยบายการเงินยังคงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างรุนแรงในขณะนี้
ส่วนเงินปอนด์แข็งค่าขึ้น หลังจากนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ รอดพ้นมติไม่ไว้วางใจในพรรคอนุรักษ์นิยมของตนเองเมื่อวันจันทร์ (6 มิ.ย.) โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคอนุรักษ์นิยมจำนวน 211 ลงมติไว้วางใจนายจอห์นสัน ขณะที่สมาชิกอีก 148 คนลงมติไม่ไว้วางใจ
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพ.ค.ของสหรัฐในวันศุกร์นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์จากบริษัทเนชันแนล ซิเคียวริตีส์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค จะเพิ่มขึ้น 8.2% ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนเม.ย.ที่ขยายตัว 8.3%
นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 14-15 มิ.ย. โดยคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมดังกล่าว รวมทั้งในการประชุมเดือนก.ค.เพื่อสกัดเงินเฟ้อ