ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (9 มิ.ย.) หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค.ปีนี้ ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐในวันนี้
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.68% สู่ระดับ 103.2400
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 134.27 เยน จากระดับ 134.16 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9801 ฟรังก์ จากระดับ 0.9778 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2689 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2558 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0624 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0718 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2505 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2540 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7103 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7195 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นหลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะระดับ 3.073% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค.ปีนี้
ส่วนยูโรแข็งค่าขึ้นในช่วงแรก หลังจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ค. ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ
ในการประชุมเมื่อวานนี้ ECB ยังประกาศว่าจะยุติการซื้อพันธบัตรภายใต้โครงการ Asset Purchase Programme (APP) ภายในสิ้นเดือนมิ.ย. ซึ่งเร็วกว่าที่ระบุไว้ก่อนหน้านี้ โดยจะปูทางสำหรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ค.เพื่อสกัดเงินเฟ้อในยูโรโซนที่พุ่งแตะระดับ 8.1% ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2540 และสูงกว่าเป้าหมายของ ECB ที่ระดับ 2%
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพ.ค.ของสหรัฐในวันนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวดาวโจนส์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 5.9% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากที่เพิ่มขึ้น 6.2% ในเดือนเม.ย. และคาดว่าดัชนี CPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 8.3% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังปรับตัวขึ้น 8.3% ในเดือนเม.ย.เช่นกัน