ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (13 มิ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงถึง 0.75% หลังตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐพุ่งสูงกว่าคาด
ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน พุ่งขึ้น 0.89% แตะที่ 105.0730
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9975 ฟรังก์ จากระดับ 0.9881 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2880 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2755 ดอลลาร์แคนาดา แต่ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 134.29 เยน จากระดับ 134.37 เยน
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0426 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0525 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2141 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2318 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6930 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7057 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์แข็งค่าหลังจากนักวิเคราะห์หลายสำนักซึ่งรวมถึงบาร์เคลย์ส และแคปิตอล อิโคโนมิกส์ ต่างก็คาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันที่ 14-15 มิ.ย.นี้ หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 8.6% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.3%
ขณะที่ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนักมากกว่า 50% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันที่ 14-15 มิ.ย. เพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านี้ที่ให้น้ำหนักเพียง 5%
ส่วนเงินปอนด์อ่อนค่าลงหลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษรายงานเมื่อวานนี้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เดือนเม.ย.ของอังกฤษหดตัวลง 0.3% จากเดือนมี.ค. ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 0.1%
อย่างไรก็ดี แม้เศรษฐกิจอังกฤษส่งสัญญาณชะลอตัว แต่นักวิเคราะห์คาดว่าธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันพฤหัสบดีนี้ หลังจากที่ได้ปรับขึ้น 0.25% สู่ระดับ 1.00% ในการประชุมเมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา
นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมเดือนพ.ค.จากสหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติสหรัฐ (NFIB), ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนพ.ค., ยอดค้าปลีกเดือนพ.ค., ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนมิ.ย.จากสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, การเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนพ.ค., และการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค.