ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ยังคงยืนเหนือระดับ 105 แตะระดับสูงสุดในรอบ 20 ปี หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่สูงเกินคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ณ เวลา 22.32 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์แข็งค่า 0.30% สู่ระดับ 134.80 เยน ขณะที่ยูโรปรับตัวขึ้น 0.37% สู่ระดับ 140.37 เยน และขยับขึ้น 0.07% สู่ระดับ 1.042 ดอลลาร์ ส่วนดัชนีดอลลาร์ บวก 0.27% สู่ระดับ 105.36
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มการประชุมนโยบายการเงินเป็นเวลา 2 วันในวันนี้ ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 4 ของปีนี้ ท่ามกลางปัจจัยท้าทายจากเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในสหรัฐ
FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 100% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมรอบนี้ ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2537 เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ
นอกจากนี้ นักลงทุนยังคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องจนเข้าใกล้ระดับ 4% ในปี 2566 จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 0.75-1.00%
เฟดได้เริ่มต้นวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนมี.ค. ก่อนที่จะปรับขึ้น 0.50% ในเดือนพ.ค. ขณะที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ส่งสัญญาณว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ทั้งในเดือนมิ.ย.และก.ค.
อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐยังคงพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยเมื่อวันศุกร์ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 8.6% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2524 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.3%