สกุลเงินปอนด์และฟรังก์สวิสแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (16 มิ.ย.) หลังจากธนาคารกลางของทั้งสองประเทศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงหลังมีการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ซึ่งรวมถึงตัวเลขว่างงานรายสัปดาห์ที่สูงกว่าการคาดการณ์
ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ร่วงลง 1.45% แตะที่ 103.6330
ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 132.00 เยน จากระดับ 134.09 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9638 ฟรังก์ จากระดับ 0.9984 ฟรังก์ แต่ดอลลาร์สหรัฐทรงตัวเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2928 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0580 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0424 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2357 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2124 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.7064 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6978 ดอลลาร์สหรัฐ
เงินปอนด์แข็งค่า หลังจากธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25% ในการประชุมเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 ปีเพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ โดยตัวเลขเงินเฟ้อของอังกฤษพุ่งแตะ 9% ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี หลังจากที่ราคาอาหารและพลังงานต่างพุ่งขึ้นจากการที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ขณะที่ BoE คาดว่าเงินเฟ้อจะพุ่งสูงกว่า 10% ในปีนี้
ขณะที่ฟรังก์สวิสแข็งค่าขึ้น หลังจากธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ได้สร้างความประหลาดใจให้กับตลาด ด้วยการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ -0.25% จากระดับ -0.75% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2550
ส่วนค่าเงินดอลลาร์ได้รับปัจจัยลบจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านดิ่งลง 14.4% ในเดือนพ.ค. สู่ระดับ 1.549 ล้านยูนิต ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2564 โดยได้รับผลกระทบจากการพุ่งขึ้นของราคาวัสดุก่อสร้างและปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาฟิลาเดลเฟีย เปิดเผยดัชนีภาคการผลิตในภูมิภาคมิด-แอตแลนติก ดิ่งลงสู่ระดับ -3.3 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 หลังจากแตะระดับ +2.6 ในเดือนพ.ค. ทางด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 3,000 ราย สู่ระดับ 229,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว แต่ตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 215,000 ราย นอกจากนี้ ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวอยู่สูงกว่าระดับ 215,000 ราย ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ