ณ เวลา 00.58 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลบ 0.27% สู่ระดับ 103.90 ขณะที่ยูโรปรับตัวขึ้น 0.5% สู่ระดับ 143.37 เยน และดีดตัว 0.32% สู่ระดับ 1.059 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์แข็งค่า 0.16% สู่ระดับ 135.38 เยน
นักลงทุนคลายความวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อ หลังราคาสินค้าโภคภัณฑ์ดิ่งลงในสัปดาห์ที่แล้ว ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐจะแตะระดับสูงสุดที่ 3.5% ในเดือนมี.ค.2566 ซึ่งลดลงจากคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 4%
นักลงทุนขานรับการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐของมหาวิทยาลัยมิชิแกนในวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะแตะ 5.3% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า ซึ่งแม้สูงกว่าระดับ 4.2% ที่มีการสำรวจในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ต่ำกว่าระดับ 5.4% ซึ่งเป็นตัวเลขเบื้องต้นที่มีการสำรวจเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว
สำหรับในช่วง 5 ปีข้างหน้า ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะแตะระดับ 3.1% แม้ว่าสูงกว่าระดับ 2.8% ที่มีการสำรวจในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ต่ำกว่าระดับ 3.3% ซึ่งเป็นตัวเลขเบื้องต้นที่มีการสำรวจเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว และอยู่ในช่วง 2.9-3.1% ที่มีการสำรวจในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา
นักลงทุนจับตาตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1/65 ของสหรัฐในวันพุธ หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 1.5% จากเดิมรายงานว่าหดตัวเพียง 1.4% ในตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 1.3%
ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐหดตัวในไตรมาส 1/65 ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ที่เศรษฐกิจเผชิญภาวะถดถอยในช่วงต้นปี 2563 โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
หากเศรษฐกิจสหรัฐหดตัวต่อไปในไตรมาส 2/65 ก็จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากมีการหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน
ในการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. เฟดได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้ สู่ระดับ 1.7% จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 2.8% ในเดือนมี.ค.