สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (30 มิ.ย.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ซึ่งรวมถึงตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานที่สูงกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.40% แตะที่ระดับ 104.6860
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 135.55 เยน จากระดับ 136.54 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9535 ฟรังก์ จากระดับ 0.9552 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2871 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2895 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0483 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0444 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2182 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2119 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.6907 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6875 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์ได้รับแรงกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 2,000 ราย สู่ระดับ 231,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว แต่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 230,000 ราย นอกจากนี้ ตัวเลขดังกล่าวยังสูงกว่าระดับ 215,000 ราย ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐลดลง 0.4% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน หลังเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนเม.ย.
นอกจากนี้ MNI Indicators ระบุว่า ดัชนีชี้วัดภาวะธุรกิจเขตชิคาโก (CBB) ร่วงลงสู่ระดับ 56.0 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนส.ย.2563 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 58.0 จากระดับ 60.3 ในเดือนพ.ค.
ทั้งนี้ ดัชนี CBB ถือเป็นดัชนีชี้นำที่สำคัญต่อเศรษฐกิจสหรัฐ โดยคำนวณจากการผลิต คำสั่งซื้อใหม่ การจ้างงาน ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดส่งสินค้าของซัพพลายเออร์ และยอดขายที่รอการรับรู้รายได้
นักลงทุนรอดูข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ ซึ่งรวมถึงดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือนมิ.ย.จากเอสแอนด์พี โกลบอล และดัชนีภาคการผลิตเดือนมิ.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM)