สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (11 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในยูโรโซน
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน พุ่งขึ้น 0.95% แตะที่ระดับ 108.0220 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 20 ปี
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0065 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0178 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.1896 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2024 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6745 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6851 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 137.28 เยน จากระดับ 136.18 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9799 ฟรังก์ จากระดับ 0.9773 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2986 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2957 ดอลลาร์แคนาดา
นักลงทุนแห่ซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นหลังจากราคาน้ำมันทะยานขึ้น อันเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนที่เกิดจากการที่รัสเซียบุกโจมตียูเครน
ทั้งนี้ ยุโรปกำลังเผชิญวิกฤตพลังงาน ขณะที่รัสเซียประกาศยุติการส่งก๊าซธรรมชาติผ่านทางท่อส่ง Nord Stream 1 โดยบริษัท Nord Stream AG ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการท่อส่ง Nord Stream 1 ยืนยันว่าทางบริษัทได้ปิดท่อส่งดังกล่าวเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียมายังเยอรมนีผ่านทางทะเลบอลติก เพื่อทำการซ่อมบำรุงจนถึงวันที่ 21 ก.ค. นักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือนนี้ หลังการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานที่แข็งแกร่ง
ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 4.6% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00% ในการประชุมวันที่ 26-27 ก.ค. และให้น้ำหนัก 95.4% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75%
นักลงทุนจับตาสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนมิ.ย.ในวันพุธนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าดัชนี CPI จะพุ่งขึ้นเหนือระดับ 8.6% ของเดือนพ.ค.