ดอลลาร์ดีดตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดใกล้แตะระดับ 1.00 เทียบยูโร ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 20 ปี ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในยูโรโซน
ณ เวลา 18.02 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์ดีดตัวขึ้น 0.189% สู่ระดับ 1.002 เทียบยูโร ส่วนยูโรอ่อนค่า 0.60% สู่ระดับ 137.12 เยน และดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน บวก 0.28% สู่ระดับ 108.32
นักลงทุนพากันเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ขณะที่กังวลว่ายูโรโซนจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นหลังราคาน้ำมันทะยานขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เกิดจากการที่รัสเซียบุกโจมตียูเครน
ทั้งนี้ ยุโรปกำลังเผชิญวิกฤตพลังงาน ขณะที่รัสเซียเริ่มยุติการส่งก๊าซธรรมชาติผ่านทางท่อส่ง Nord Stream 1 เมื่อวานนี้
บริษัท Nord Stream AG ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการท่อส่ง Nord Stream 1 ประกาศว่า ทางบริษัทปิดท่อส่งดังกล่าววานนี้ ซึ่งเป็นท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียมายังเยอรมนีผ่านทางทะเลบอลติก เพื่อทำการซ่อมบำรุงจนถึงวันที่ 21 ก.ค.
อย่างไรก็ดี มีความวิตกกันว่ารัสเซียจะยังคงตัดการส่งก๊าซธรรมชาติไปยังยุโรป แม้ Nord Stream 1 เสร็จสิ้นการซ่อมบำรุงในวันที่ 21 ก.ค.
ทางด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้ ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปีเพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจะยิ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจยูโรโซน
ขณะเดียวกัน นักลงทุนมองว่าตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่งของสหรัฐจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการแข็งค่าของดอลลาร์
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 372,000 ตำแหน่งในเดือนมิ.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 250,000 ตำแหน่ง
นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดมีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือนนี้ หลังการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานที่แข็งแกร่ง
ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 4.6% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00% ในการประชุมวันที่ 26-27 ก.ค. และให้น้ำหนัก 95.4% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75%
ก่อนหน้านี้ นักลงทุนเคยคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเฟดเดือนก.ค. แต่ล่าสุดตัวเลขคาดการณ์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ได้หายไป และแทนที่ด้วยคาดการณ์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00%
ขณะเดียวกัน ตลาดจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนมิ.ย.ในวันพรุ่งนี้ ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าดัชนี CPI จะพุ่งขึ้น 8.8% สูงกว่าระดับ 8.6% ของเดือนพ.ค.