ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ยูโรแข็งค่าเทียบดอลล์ หลัง ECB ขึ้นดอกเบี้ยแรง 0.5%

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 22, 2022 07:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (21 ก.ค.) หลังจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงถึง 0.50% เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.16% แตะที่ระดับ 106.9100

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0198 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0179 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.1962 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1967 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.6903 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6886 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 137.65 เยน จากระดับ 138.25 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9685 ฟรังก์ จากระดับ 0.9719 ฟรังก์ อย่างไรก็ดี ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2893 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2878 ดอลลาร์แคนาดา

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2543 เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว รุนแรงกว่าที่ ECB ส่งสัญญาณในเดือนมิ.ย.ว่าจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเพียง 0.25% ในเดือนก.ค.

นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์หน้า โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักเพียง 30.9% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00% ในการประชุมวันที่ 26-27 ก.ค. และให้น้ำหนัก 69.1% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75%

นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาการเปิดเผย GDP ไตรมาส 2 ของสหรัฐในสัปดาห์หน้าเช่นกัน ขณะที่เฟดสาขาแอตแลนตาเปิดเผยแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดซึ่งแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 1.6% ในไตรมาส 2 จากเดิมที่คาดการณ์ในวันที่ 15 ก.ค.ว่ามีแนวโน้มหดตัว 1.5%

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยล่าสุดเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 7,000 ราย สู่ระดับ 251,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2564 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 240,000 ราย

ขณะที่เฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตในภูมิภาคมิด-แอตแลนติก ดิ่งลงสู่ระดับ -12.3 ในเดือนก.ค. หลังจากแตะระดับ -3.3 ในเดือนมิ.ย. โดยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของการจ้างงานและคำสั่งซื้อใหม่

ทั้งนี้ ดัชนีปรับตัวต่ำกว่าระดับ 0 บ่งชี้ว่า ภาคการผลิตในภูมิภาคมิด-แอตแลนติกอยู่ในภาวะหดตัว โดยเป็นการหดตัวเดือนที่ 2 ติดต่อกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ