ดอลลาร์อ่อนค่าเทียบสกุลเงินหลัก หลังการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐหดตัวครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี
ณ เวลา 01.01 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์อ่อนค่า 0.97% สู่ระดับ 136.03 เยน ขณะที่ยูโรปรับตัวลง 0.99% สู่ระดับ 139.10 เยน และขยับลง 0.02% สู่ระดับ 1.023 ดอลลาร์ ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลบ 0.43% สู่ระดับ 106.45
เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 47.5 ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 26 เดือน จากระดับ 52.3 ในเดือนมิ.ย.
ดัชนี PMI อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจของสหรัฐอยู่ในภาวะหดตัว โดยเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2563 ขณะที่ถูกกดดันจากภาวะหดตัวในภาคบริการ และภาคการผลิตปรับตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี โดยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2563
ทั้งนี้ ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น อยู่ที่ 52.3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 24 เดือน จากระดับ 52.7 ในเดือนมิ.ย.
ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น อยู่ที่ 47.0 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 26 เดือน จากระดับ 52.7 ในเดือนมิ.ย.
นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และการเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐในสัปดาห์หน้า หลังจากที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมวานนี้ ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2543 เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว รุนแรงกว่าที่ ECB ส่งสัญญาณในเดือนมิ.ย.ว่าจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเพียง 0.25% ในเดือนก.ค.
นักลงทุนลดคาดการณ์เกี่ยวกับการที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00% ในการประชุมเดือนนี้ หลังมีการเปิดเผยข้อมูลที่ระบุว่าผู้บริโภคได้ลดคาดการณ์เงินเฟ้อ ขณะที่เจ้าหน้าที่เฟดบางรายแสดงความเห็นสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.75% ในเดือนนี้ แทนที่จะปรับขึ้นอย่างรุนแรงถึง 1.00%
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักเพียง 22.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00% ในการประชุมวันที่ 26-27 ก.ค. และให้น้ำหนัก 77.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75%
ก่อนหน้านี้ นักลงทุนให้น้ำหนักถึง 80% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00% ในการประชุมวันที่ 26-27 ก.ค. และให้น้ำหนัก 20% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75%
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2 ในวันที่ 28 ก.ค. หลังจากเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า GDP หดตัว 1.6% ในไตรมาส 1
ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 1.6% ในไตรมาส 2 จากเดิมที่คาดการณ์ในวันที่ 15 ก.ค.ว่ามีแนวโน้มหดตัว 1.5%
ตัวเลขคาดการณ์ GDPNow บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 1.6% ทั้งในไตรมาส 1 และ 2 ซึ่งแสดงว่าสหรัฐเข้าเกณฑ์นิยามของการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากเศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน
เฟดสาขาแอตแลนตาจะรายงานตัวเลขคาดการณ์ GDPNow ครั้งใหม่ในวันที่ 27 ก.ค. ก่อนที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2 ในวันที่ 28 ก.ค.