ดอลลาร์สหรัฐร่วงลงอย่างหนักเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (10 ส.ค.) หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และจะลดแรงกดดันต่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ร่วงลง 1.11% แตะที่ระดับ 105.1960
ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 132.90 เยน จากระดับ 135.17 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ0.9424 ฟรังก์ จากระดับ 0.9540 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2784 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2891 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0306 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0208 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.2226 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2070 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.7085 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6956 ดอลลาร์สหรัฐ
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค เพิ่มขึ้น 8.5% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.7% หลังจากพุ่งแตะระดับ 9.1% ในเดือนมิ.ย.ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี
ทั้งนี้ นักลงทุนปรับลดคาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของเฟดหลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลข CPI เดือนก.ค.ที่ต่ำกว่าคาด โดย FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 61.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 2.75-3.00% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. และให้น้ำหนักเพียง 38.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75%
ก่อนหน้านี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 68.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. และให้น้ำหนักเพียง 31.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50%