ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลลาร์แข็งค่า รับรายงานประชุมเฟด-ข้อมูลศก.สดใส

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday August 19, 2022 07:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (18 ส.ค.) ขานรับข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ และรายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งบ่งชี้ว่าเฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.85% แตะที่ระดับ 107.4840

ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 135.87 เยน จากระดับ 135.06 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9563 ฟรังก์ จากระดับ 0.9515 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2940 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2898 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ที่ระดับ 1.0093 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0185 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.1934 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2064 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6919 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6943 ดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ เฟดเปิดเผยรายงานการประชุมประจำวันที่ 26-27 ก.ค.เมื่อวันพุธที่ผ่านมา โดยระบุว่า กรรมการเฟดมีความมุ่งมั่นที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงเท่าที่จำเป็น จนกว่าจะสามารถควบคุมเงินเฟ้อ

นางแมรี ดาลี ประธานเฟด สาขาซานฟรานซิสโก กล่าวว่า การที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% หรือ 0.75% ในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนก.ย. ล้วนมีความเหมาะสมเพื่อให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดอยู่เหนือระดับ 3% ภายในปลายปีนี้ และสูงขึ้นอีกเล็กน้อยในปี 2566

นางดาลีกล่าวเสริมว่า เมื่ออัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับดังกล่าว และกำลังชะลอการขยายตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐ เฟดก็ควรจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยต่อไป และไม่ควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาฟิลาเดลเฟีย เปิดเผยดัชนีภาคการผลิตในภูมิภาคมิด-แอตแลนติก พุ่งขึ้นสู่ระดับ +6.2 ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ -5.0 จากระดับ -12.3 ในเดือนก.ค.

ทั้งนี้ ดัชนีอยู่เหนือระดับ 0 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคการผลิตในภูมิภาคมิด-แอตแลนติกมีการขยายตัว

ด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 2,000 ราย สู่ระดับ 250,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 265,000 ราย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ