ดอลลาร์ยังคงอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง โดยถูกกดดันจากการคาดการณ์ที่ว่า สหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่ชะลอตัวในวันนี้ ซึ่งจะลดแรงกดดันต่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ณ เวลา 18.33 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลบ 0.55% สู่ระดับ 107.73 ขณะที่ดอลลาร์ร่วงลง 0.65% สู่ระดับ 141.89 เยน ส่วนยูโรปรับตัวลง 0.03% สู่ระดับ 144.48 เยน และแข็งค่า 0.6% สู่ระดับ 1.018 ดอลลาร์
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนส.ค.ในวันนี้ โดยดัชนี CPI เป็นข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญตัวสุดท้าย ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 20-21 ก.ย.
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าตัวเลข CPI ดังกล่าวจะบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว
ทั้งนี้ ผลการสำรวจนักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนี CPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 8.1% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายปี โดยชะลอตัวจากระดับ 8.5% ในเดือนก.ค.
ก่อนหน้านี้ ดัชนี CPI ทั่วไปพุ่งแตะระดับ 9.1% ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี
เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี CPI ทั่วไปปรับตัวลง 0.1% ในเดือนส.ค. โดยมีสาเหตุจากการดิ่งลงของราคาพลังงาน
หากดัชนี CPI ทั่วไปปรับตัวลงในเดือนส.ค.เมื่อเทียบรายเดือน ก็จะเป็นการปรับตัวลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2563
ขณะเดียวกัน ยูโรแข็งค่าเทียบดอลลาร์ โดยได้แรงหนุนจากการส่งสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB)
ทั้งนี้ นายโยอาคิม นาเจล ประธาน ECB กล่าวว่า หากทิศทางของดัชนี CPI ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง ECB ก็จะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป
สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า ดัชนี CPI ของยูโรโซนพุ่งขึ้นสู่ระดับ 9.1% ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ที่ยูโรสแตทเริ่มรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในปี 2540 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 9.0% จากระดับ 8.9% ในเดือนก.ค.