ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (13 ก.ย.) หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่พุ่งขึ้นสูงกว่าคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน พุ่งขึ้น 1.37% แตะที่ระดับ 109.8150
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 144.37 เยน จากระดับ 142.74 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9607 ฟรังก์ จากระดับ 0.9540 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3154 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2984 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 0.9979 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0120 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.1503 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1679 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.6738 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6881 ดอลลาร์สหรัฐ
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 8.3% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.1% ส่วนดัชนี CPI พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมราคาในหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 6.3% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.1%
นักลงทุนเริ่มคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงถึง 1.00% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย.นี้ หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลข CPI ที่สูงกว่าคาด โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 32% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00% สู่ระดับ 3.25-3.50% ในการประชุมเดือนนี้ และให้น้ำหนัก 82% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75%
ทางด้านนักวิเคราะห์ของบริษัทโนมูระคาดการณ์เช่นกันว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00% ในการประชุมเดือนนี้หลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลข CPI สูงกว่าคาด จากเดิมที่เคยคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75%
นักลงทุนรอดูข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนส.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดค้าปลีกเดือนส.ค., ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือนก.ย.จากเฟดนิวยอร์ก, ราคานำเข้าและราคาส่งออกเดือนส.ค., การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนส.ค., สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนก.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนก.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน