ดอลลาร์แข็งค่าเทียบสกุลเงินหลักในวันนี้ ขณะที่นักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ณ เวลา 19.09 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงินบวก 0.23% สู่ระดับ 109.99 ขณะที่ยูโรปรับตัวลง 0.11% สู่ระดับ 143.34 เยน และอ่อนค่า 0.40% สู่ระดับ 0.998 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ดีดตัว 0.29% สู่ระดับ 143.61 เยน
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 82% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. และให้น้ำหนัก 18% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00%
หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในเดือนก.ย. ก็จะส่งผลให้เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 หลังจากปรับขึ้น 0.75% ทั้งในเดือนมิ.ย.และก.ค. และหากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00% ก็จะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 40 ปี
ขณะเดียวกัน ปอนด์ฟื้นตัวในวันนี้ หลังจากดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 37 ปีเทียบดอลลาร์ ขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ในสัปดาห์นี้
ณ เวลา 18.56 น.ตามเวลาไทย ปอนด์ขยับขึ้น 0.02% สู่ระดับ 1.143 ดอลลาร์ หลังจากดิ่งลงแตะ 1.1351 ดอลลาร์ก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2528
นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของ BoE ในวันพฤหัสบดี โดยคาดว่า BoE จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมครั้งนี้
ก่อนหน้านี้ BoE มีมติ 8-1 ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 1.75% ในการประชุมเมื่อวันที่ 4 ส.ค. โดยเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 27 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2538 ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 6 นับตั้งแต่เดือนธ.ค.2564 ส่งผลให้ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ BoE แตะระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2551
ปอนด์ร่วงลง 16% เทียบดอลลาร์นับตั้งแต่ต้นปี 2565 ส่งผลให้ปอนด์มีแนวโน้มปรับตัวย่ำแย่ที่สุดในปีนี้นับตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งเป็นปีที่อังกฤษทำประชามติแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (EU)
BoE ระบุก่อนหน้านี้ว่า เศรษฐกิจอังกฤษจะเผชิญภาวะถดถอยยาวนานกว่า 1 ปี โดยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2565 จนถึงสิ้นปี 2566
BoE คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอังกฤษจะเผชิญภาวะถดถอยนานถึง 5 ไตรมาส ซึ่งเป็นช่วงเวลายาวนานที่สุดนับตั้งแต่ที่เศรษฐกิจโลกเผชิญวิกฤตการเงิน โดยรายได้ในภาคครัวเรือนของอังกฤษจะทรุดตัวลงอย่างหนักในปี 2565-2566 ขณะที่การบริโภคเริ่มหดตัว
นอกจากนี้ หลายฝ่ายกังวลต่อสถานะทางการคลังของอังกฤษ เนื่องจากนางลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ มีนโยบายปรับลดอัตราภาษี รวมทั้งออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือภาคครัวเรือนของอังกฤษ