ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 20 ปีในวันนี้ ขณะที่นักลงทุนพากันเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ในยูเครน หลังจากที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ประกาศระดมกำลังพลเพื่อยกระดับการทำสงครามกับยูเครน
นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ณ เวลา 22.15 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดอลลาร์บวก 0.69% สู่ระดับ 111.40 หลังพุ่งแตะระดับ 111.79 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2545
ดัชนีดอลลาร์พุ่งขึ้น 16% นับตั้งแต่ต้นปี 2565 และมีแนวโน้มทำสถิติทะยานขึ้นในปีนี้ครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2524
อย่างไรก็ดี ดอลลาร์ดิ่งลง 1.21% สู่ระดับ 142.30 เยน หลังจากหลุด 141 เยนจากการที่ญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราเป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2541 เพื่อพยุงค่าเงินเยนที่ทรุดตัวลง
ก่อนหน้านี้ เยนทรุดตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 24 ปีเทียบดอลลาร์ ขณะที่ดอลลาร์ได้ปัจจัยหนุนจากมุมมองที่ว่า เฟดจะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ สวนทางธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งยังคงใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเป็นพิเศษ ซึ่งจะทำให้ช่องว่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐและญี่ปุ่นขยายกว้างขึ้น
นายมาซาโตะ คันดะ รัฐมนตรีช่วยคลังของญี่ปุ่น ยืนยันว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้เข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราเพื่อหนุนค่าเงินเยน
อย่างไรก็ดี นายชูนิชิ ซูซูกิ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่น ปฏิเสธที่จะเปิดเผยวงเงินที่ใช้ในการแทรกแซงตลาดวันนี้ และไม่ได้ระบุว่ามีประเทศอื่นที่เข้าร่วมกับญี่ปุ่นในการแทรกแซงตลาดหรือไม่
ทั้งนี้ โดยหลักการแล้ว การที่ญี่ปุ่นแทรกแซงตลาดจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกอื่นในกลุ่ม G7 โดยเฉพาะจากสหรัฐ หากญี่ปุ่นต้องการแทรกแซงค่าเงินดอลลาร์/เยน
ทางด้านโฆษกของธนาคารกลางยุโรป (ECB) แถลงยืนยันว่า ECB ไม่ได้ทำการแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราร่วมกับญี่ปุ่นในวันนี้
ก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่นได้เข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราในช่วงวิกฤตการเงินเอเชียเมื่อปี 2541 ซึ่งขณะนั้นเยนดิ่งลงสู่ระดับ 146 เทียบดอลลาร์
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นเคยเข้าแทรกแซงตลาดในช่วงที่เยนพุ่งขึ้นสู่ระดับ 130 เทียบดอลลาร์ในปี 2554 แต่ครั้งนั้นเป็นการเข้าแทรกแซงเพื่อให้เยนอ่อนค่าลง