ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (4 ต.ค.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ นอกจากนี้ การร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐยังสร้างแรงกดดันต่อดอลลาร์
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ร่วงลง 1.5% แตะที่ระดับ 110.0690
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 143.93 เยน จากระดับ 144.72 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9787 ฟรังก์ จากระดับ 0.9930 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3510 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3635 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0000 ดอลลาร์ จากระดับ 0.9821 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.1479 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1313 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.6498 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6517 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง หลังจากสำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน ลดลง 1.1 ล้านตำแหน่ง สู่ระดับ 10.1 ล้านตำแหน่งในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2564 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 11.1 ล้านตำแหน่ง นักลงทุนคาดการณ์ว่า การปรับตัวลงของ JOLTS จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชะลอความแรงในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดย JOLTS เป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสนใจ เนื่องจากเป็นมาตรวัดภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยในการพิจารณานโยบายการเงินและอัตราดอกเบี้ยของเฟด
ทั้งนี้ นักลงทุนลดการคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือนพ.ย. โดย FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 58.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.75-4.00% ในการประชุมวันที่ 1-2 พ.ย. หลังจากที่ก่อนหน้านี้ให้น้ำหนักสูงถึง 68.1%
ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดัน หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ร่วงลงสู่ระดับ 3.581% เมื่อคืนนี้
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนก.ย.ของสหรัฐในวันศุกร์นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้นเพียง 265,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. หลังจากพุ่งขึ้น 315,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค. และคาดว่าอัตราว่างงานเดือนก.ย.จะทรงตัวที่ระดับ 3.7%