ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (5 ต.ค.) หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐดีดตัวขึ้น ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันศุกร์นี้
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.91% แตะที่ระดับ 111.0740
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 144.47 เยน จากระดับ 143.93 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9825 ฟรังก์ จากระดับ 0.9787 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3602 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3510 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 0.9895 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0000 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.1344 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1479 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.6507 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6498 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์แข็งค่า หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 3.773% เมื่อคืนนี้
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยล่าสุด ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) เปิดเผยว่า ตัวเลขจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้น 208,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 200,000 ตำแหน่ง จากระดับ 185,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค.
ขณะที่สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการเดือนก.ย.ของสหรัฐอยู่ที่ระดับ 56.7 ซึ่งแม้ว่าชะลอตัวลงจากระดับ 57.9 ในเดือนส.ค. แต่ตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 56 และสูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคบริการ โดยดัชนีภาคบริการเดือนก.ย.ของสหรัฐได้รับแรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของการจ้างงาน
ทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขขาดดุลการค้าสหรัฐลดลง 4.3% สู่ระดับ 6.74 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2564 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.77 หมื่นล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ การนำเข้าลดลง 1.1% สู่ระดับ 3.263 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่การส่งออกลดลง 0.3% สู่ระดับ 2.589 แสนล้านดอลลาร์
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนก.ย.ของสหรัฐในวันพรุ่งนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้นเพียง 265,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. หลังจากพุ่งขึ้น 315,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค. และคาดว่าอัตราว่างงานเดือนก.ย.จะทรงตัวที่ระดับ 3.7%