ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ดีดตัวขึ้นในวันนี้ ขานรับคาดการณ์ที่ว่า สหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่ร้อนแรงในสัปดาห์นี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ณ เวลา 00.12 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดอลลาร์ บวก 0.40% สู่ระดับ 113.25 ขณะที่ดอลลาร์ปรับตัวขึ้น 0.26% สู่ระดับ 145.71 เยน ส่วนยูโรร่วงลง 0.23% สู่ระดับ 141.25 เยน และอ่อนค่า 0.48% สู่ระดับ 0.959 ดอลลาร์
กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ในวันพฤหัสบดีนี้
ผลการสำรวจพบว่า ดัชนี CPI ยังคงร้อนแรงในเดือนก.ย. โดยดีดตัวขึ้นมากกว่า 8% แม้ชะลอตัวจากเดือนส.ค.
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI ปรับตัวขึ้น 8.1% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 8.3% ในเดือนส.ค.
นอกจากนี้ คาดว่า ดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 6.5% โดยสูงกว่าระดับ 6.3% ในเดือนส.ค.
ขณะเดียวกัน ดอลลาร์ยังได้ปัจจัยหนุนจากการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่งเกินคาด
นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือนพ.ย. ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 4 หลังจากปรับขึ้น 0.75% ในเดือนมิ.ย.,ก.ค.และก.ย.
นอกจากนี้ นักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย
นายเจมี ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเจพีมอร์แกน เชส กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยในกลางปีหน้า โดยได้รับผลกระทบจากการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ, การดีดตัวของอัตราดอกเบี้ย และการที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครน
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จะเปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ในวันพรุ่งนี้ โดยคาดว่าจะมีการปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2566 ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ, การแพร่ระบาดของโควิด-19, การที่รัสเซียบุกโจมตียูเครน และผลกระทบจากภาวะโลกร้อนต่อเศรษฐกิจในทุกทวีป