ดอลลาร์แข็งค่าเทียบสกุลเงินหลัก ขานรับการเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3 ที่สูงกว่าคาดการณ์ ทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐสามารถรับมือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ณ เวลา 20.20 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน บวก 0.57% สู่ระดับ 110.31 ขณะที่ดอลลาร์ดีดตัว 0.834% สู่ระดับ 0.999 เทียบยูโร
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งแรกสำหรับ GDP ประจำไตรมาส 3 ในวันนี้ โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.6% ในไตรมาสดังกล่าว สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.3%
การเปิดเผยตัวเลข GDP ดังกล่าวช่วยคลายความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ หลังจากเศรษฐกิจหดตัว 1.6% ในไตรมาส 1 และ 0.6% ในไตรมาส 2 ซึ่งทำให้สหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค
สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐ (NBER) ถือเป็นหน่วยงานในการตัดสินเกี่ยวกับการขยายตัวหรือการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยจะมีการพิจารณาจากหลายปัจจัย ได้แก่ การจ้างงาน การบริโภค การผลิตในภาคอุตสาหกรรม และรายได้ส่วนบุคคล ก่อนที่จะทำการประกาศอย่างเป็นทางการ
ด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันนี้ ตามการคาดการณ์ของตลาด
ทั้งนี้ ECB มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสู่ระดับ 1.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2552 จากเดิมที่ระดับ 0.75%
นอกจากนี้ ECB ยังส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ
ECB ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน หลังจากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนก.ค. และ 0.75% ในเดือนก.ย. โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ค.ถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2543
สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของยูโรโซนพุ่งขึ้นสู่ระดับ 9.9% ในเดือนก.ย. จากระดับ 9.1% ในเดือนส.ค. และสูงกว่าระดับ 2% ซึ่งเป็นเป้าหมายของ ECB