ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (21 พ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนพากันซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจีน
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.82% แตะที่ 107.8350
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 142.13 เยน จากระดับ 140.36 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9592 ฟรังก์ จากระดับ 0.9531 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3446 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3384 ดอลลาร์แคนาดา และแข็งค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.7110 โครนา จากระดับ 10.6243 โครนา
ส่วนยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0243 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0331 ดอลลาร์ และเงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.1815 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1890 ดอลลาร์
นักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย หลังจากกรุงปักกิ่งซึ่งเป็นเมืองหลวงของจีน สั่งล็อกดาวน์เขตเฉาหยาง เขตไห่เตี้ยน เขตตงเฉิง และเขตซีเฉิง หลังมีรายงานพบผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในกรุงปักกิ่งเพิ่มอีก 2 รายในวันอาทิตย์ (20 พ.ย.) และพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มอีก 951 ราย โดยเทศบาลกรุงปักกิ่งได้สั่งระงับการเรียนการสอนในโรงเรียนและเปลี่ยนไปเรียนทางออนไลน์ และสั่งให้ประชาชนในเขตเหล่านี้อยู่แต่ในบ้าน
นอกจากนี้ จีนยังได้สั่งล็อกดาวน์เมืองสือจยาจวง ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลเหอเป่ย และล็อกดาวน์เขตไป๋อวิ๋นในมณฑลกว่างโจว โดยสั่งระงับการเรียนการสอนในโรงเรียนและสั่งให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้านเป็นเวลา 5 วัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 21 พ.ย.ไปจนถึงวันที่ 25 พ.ย.
ข่าวดังกล่าวทำให้นักลงทุนกังวลว่าจีนอาจจะใช้มาตรการควบคุมโควิด-19 ที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และขัดขวางความพยายามในการเปิดประเทศของจีน
นักลงทุนจับตารายงานการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ประจำวันที่ 1-2 พ.ย. ซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันพุธนี้ (23 พ.ย.) เพื่อบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนต.ค., ยอดขายบ้านใหม่เดือนต.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน